< Back
ผู้ประกอบการเพื่อสังคมกับการผลิตอาหารเพื่อสังคม
ม.ค. 27, 2016

คุณธีรสิทธิ์ อมรแสนสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรีนเนท เอสอี จำกัด ได้เล่าถึงที่มาของธุรกิจกาแฟอินทรีย์รักป่า มีวนาว่าเป็นธุรกิจที่เริ่มต้นจากความร่วมมือของมูลนิธิสายใยแผ่นดินหรือกรีนเนท ที่มีวัตถุประสงค์แรกเริ่มเพื่อหยุดการตัดไม้ทำลายป่าและสร้างมลพิษเคมีปนเปื้อนในพื้นที่ป่าต้นน้ำ  ที่เป็นเหตุให้เกษตรกรล้มป่วย ร่างกายสะสมสารพิษจนเสียชีวิต สัตว์ป่าก็สูญพันธุ์ เราก็เลยเข้าไปเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรบนพื้นที่ โดยริเริ่มโครงการส่งเสริมกาแฟอินทรีย์รักษาป่าขึ้นเมื่อปี 2010

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กรีนเนท เอสอี จึงได้นำเมล็ดกาแฟสายพันธุ์ที่ได้รับการคัดเลือกแล้วว่าให้กลิ่นและรสชาติที่ดีไปให้เกษตรกรที่ทำกินอยู่ในป่าต้นน้ำแม่ลาว ป่าที่อุดมสมบูรณ์มากที่สุดของจังหวัดเชียงราย ก่อนขยายพื้นที่ไปยังป่าต้นนํ้าแม่กรณ์ ตำบลวาวี ในพื้นที่ใกล้เคียง ได้ช่วยกันเพาะปลูก เนื่องจากเป็นพืชเศรษฐกิจที่ตอบโจทย์ทั้งด้านผลตอบแทน และยังเป็นพืชที่ต้องการร่มเงาสูงจึงปลูกควบคู่ไปกับการอนุรักษ์ป่าร่มเงาได้ ทั้งระบบนิเวศภายในป่าก็สมบูรณ์ด้วยดินภูเขาไฟ เหมาะสมที่จะให้ผลผลิตกาแฟอินทรีย์ที่มีคุณภาพกลิ่นและรสที่ดีกว่า ภายใต้แบรนด์ มีวนาที่ได้รับการจัดให้เป็น กาแฟอินทรีย์ป่า (Organic Forest Coffee)” ซึ่งสามารถผลิตได้เพียงร้อยละ 1 ของกาแฟที่ผลิตได้ในโลกทั้งหมด ทำให้จำหน่ายในราคาพรีเมียมได้ เป็นการช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของเกษตรกร ที่สำคัญคือช่วยมีการดำรงอยู่ของป่าต้นน้ำอย่างยั่งยืน โดยทางบริษัทได้ดำเนินการตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ การเพาะปลูก ไปจนถึงการผลิตตามมาตรฐานออร์แกนิกแบบครบวงจร ที่ปลอดภัย ใส่ใจ และไม่ใช้สารเคมีใดๆ ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยในปัจจุบันมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนี้แล้วกว่า 325 ครอบครัว ใน 9 หมู่บ้าน

เพราะเชื่อว่า สินค้าที่ดีย่อมมีที่ทางและช่องทางในการจำหน่ายไปสู่มือบริโภคได้ในที่สุด กรีนเนท เอสอี จึงพิถีพิถันทุกขั้นตอนในการผลิตกาแฟมีวนาให้ได้ตามมาตรฐานที่ตั้งไว้ ตั้งแต่การจัดให้มีอบรมด้านการผลิตและจัดทำระบบมาตรฐานกาแฟอินทรีย์ ไปจนถึงการแปรรูปที่ได้คุณภาพแบบที่เรียกได้ว่ามีกระบวนการผลิตแบบทำมือแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่ความพิถีพิถันในการเก็บเมล็ดกาแฟเฉพาะเมล็ดที่สุกสมบูรณ์ด้วยมือทีละเมล็ด พร้อมนำเข้าสู่กระบวนการผลิตภายใน 24 ชั่วโมงหลังการเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้กลิ่นและรสที่สมบูรณ์แบบ ตลอดถึงการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของกาแฟที่ได้ทั้งสี กลิ่น ขนาด และรสชาติทุกขั้นตอนโดยผู้ชำนาญการ ไปจนขั้นตอนการคั่วกาแฟที่พิถีพิถันโดยนักคั่วกาแฟที่ผ่านการอบรมจากหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ

การที่เราเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ทำให้เรามีพันธมิตรทั่วโลก เราจึงสามารถส่งคนของเราไปเรียนรู้เรื่องกาแฟกับพันธมิตรของเราในสหรัฐอเมริกาได้ปีละสามคนเป็นอย่างน้อย เช่น ไปเรียนหลักสูตรการคั่วกาแฟกับผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ เพื่อทำให้เรามีความเข้าใจในเรื่องการการผลิตไปจนถึงการคั่วกาแฟอย่างลึกซึ้งมากขึ้น และสิ่งเหล่านี้จะสร้างข้อแตกต่างและจุดเด่นให้กับผลิตภัณฑ์ของเรา

ต่อยอดธุรกิจแบบเอสอี
ความที่เราเป็นธุรกิจเพื่อสังคม นอกจากจะช่วยสร้างและกระจายรายได้ที่เป็นธรรมแล้ว เป้าหมายของการก่อตั้งบริษัทของเราก็ชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า รายได้ของเรามากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ต้องนำมาต่อยอดและขยายกิจการเพื่อสังคมนี้เรื่อยไป และเราจะแบ่งอีก 10 เปอร์เซ็นต์เป็นเงินบริจาคเพื่อองค์กรสาธารณะทางสังคม เพราะเราเชื่อว่า การจะบอกว่าคุณเป็นกิจการเพื่อสังคม คุณต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยว่ารายได้ของคุณไปที่ไหนบ้างการบริหารจัดการด้วยวิธีนี้ เมื่อเสริมกับระบบการตลาดและการค้าที่เป็นธรรม (Fair Trade) ที่นำเข้ามาใช้ในการบริหารและการจัดการธุรกิจแล้ว ก็กลายเป็นหลักประกันระยะยาวให้แก่ทั้งเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภค และภาคสังคมได้เป็นอย่างดี กระทั่งโมเดลธุรกิจของกรีนเนท เอสอี ได้รับรางวัลแผนธุรกิจเพื่อสังคมดีเด่น จากสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) และรางวัล Best Quality Award จากการประกวดกาแฟคุณภาพในงาน Thailand Coffee, Tea and Drink ในปี 2556-2557 ติดต่อกัน

คุณธีรสิทธิ์ได้สรุปให้ฟังว่า ผลกระทบเชิงบวกที่เกิดขึ้นจากโครงการปลูกกาแฟอินทรีย์เพื่ออนุรักษ์ป่าต้นน้ำนี้ไม่ได้ให้ผลตอบแทนแค่ที่เป็นตัวเงินแก่ชุมชน อย่างการที่เกษตรกรผู้เป็นสมาชิกจะมีส่วนต่างรายได้ขั้นต่ำเพิ่มจากการขายผลกาแฟกว่า 90 ล้านบาทใน 10 ปี และยังสร้างรายได้จากการจ้างงานของเกษตรกรภายในชุมชนอีกกว่า 60 ล้านบาทใน 10 ปีเท่านั้น แต่เรายังได้รับประโยชน์จากการฟื้นฟูป่าบนพื้นที่การเกษตรอินทรีย์ที่เข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 7,000 ไร่ ที่คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้สูงกว่า 1,050 ล้านบาท/ปี นั่นยังไม่รวมถึงผลตอบแทนอื่นๆ ที่ยากจะประเมินเป็นมูลค่า อาทิ สุขภาพที่ดีและความปลอดภัยของเกษตรกรและผู้บริโภคอย่างเราๆ นั่นเอง

เพราะเมื่อป่าอันเป็นต้นทางของพื้นที่เกษตรกรรมได้รับการฟื้นฟู นั่นก็หมายถึงการได้คืนมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของโลกใบนี้นั่นเอง